รักษารากฟัน
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- การรักษารากฟันคืออะไร
- สาเหตุของการรักษารากฟัน
- อาการที่เกิดมาจากรากฟันอักเสบติดเชื้อ
- การเตรียมตัวก่อนการรักษารากฟัน
- ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- การปฏิบัติตัวหลังจากรักษารากฟัน
การรักษารากฟันคืออะไร
การรักษารากฟัน คือ การรักษาที่มีจุดประสงค์เพื่อเก็บรักษาฟันธรรมชาติที่มีการอักเสบ หรือติดเชื้อในคลองรากฟัน ให้คงอยู่ในช่องปาก และสามารถใช้งานต่อได้ตามปกติ โดยใช้วิธีทางทันตกรรมต่างๆมาทำความสะอาดในคลองรากฟันให้ปราศจากเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อต่อไปในอนาคต
สาเหตุของการรักษารากฟัน
- ฟันผุลึกทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันร้าว แตก หรือสึกจากการบดเคี้ยวของแข็ง หรือการนอนกัดฟัน
- ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ บิ่น แตก หัก
- ลักษณะฟันที่มีการสร้างผิดปกติ
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถทำให้เชื้อโรคลงไปสู่โพรงประสาทฟัน ก่อให้เกิดอาการอักเสบของโพรงประสาทฟัน และก่อให้เกิดอาการฟันตายได้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดการสะสมของหนองในเนื้อเยื่อที่ปลายรากฟันบริเวณกระดูกขากรรไกร ทำให้สร้างความเจ็บปวด เกิดอาการบวม และเป็นหนองออกมาที่ผิวหนังได้
อาการที่เกิดมาจากรากฟันอักเสบติดเชื้อ
1. ปวดฟันโดยไม่ทราบสาเหตุมีอาการปวดฟัน บางครั้งอาจจะเป็นอาการปวดฟันเพียงเล็กน้อย จนถึงมีอาการปวดอยู่ตลอดเวลา ปวดขึ้นเอง หรือปวดจนนอนไม่ได้
2. ปวดฟันระหว่างกัดฟันหรือเคี้ยวอาหาร มีอาการปวดฟันเมื่อบดเคี้ยวอาหาร ผลไม้หรือน้ำแข็ง ปวดลึกจนถึงเหงือก ปวดร้าว ถือเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะเกิดจากฟันร้าวได้
3. รู้สึกเสียวฟันมาก เวลาทานของร้อนและของเย็น มีอาการเมื่อรับประทานอาหารทั้งของร้อน และของเย็นจนมีอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันขึ้นมา และมีอาการปวดคงอยู่
4. ปวดและเหงือกบวมจากอาการเหงือกติดเชื้อ มีหนอง ซึ่งมักจะมีอาการเป็นๆหาย ๆ
5. มีอาการบวมในปาก แก้ม คาง หรือหน้าโดยมักจะมีไข้ หรืออาการปวดร่วมด้วย
การเตรียมตัวก่อนการรักษารากฟัน
- ทันตแพทย์จะทำการตรวจประเมิน และพิจารณาแผนการรักษา ก่อนการลงมือรักษารากฟัน โดยบางกรณีอาจจะมีการกำจัดฟันที่ผุก่อนเพื่อประเมินว่าสามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้หรือไม่ และอาจจะมีการอุดฟันก่อนเริ่มการรักษารากฟัน
- เอกซเรย์ฟันซี่ที่จะทำการรักษา เพื่อให้เห็นภาพของรากฟันบริเวณที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงพิจารณาว่ามีการติดเชื้อรอบๆ กระดูกบริเวณดังกล่าวหรือไม่
- นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- งดเว้นการสูบบุหรี่
- ทำความสะอาดช่องปากและฟันก่อนรักษา
- หากมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาหรือวิตามินต้องแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบก่อนเสมอ
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
- การรักษารากฟันทันตแพทย์จะทำร่วมกับการฉีดยาชา โดยใช้แผ่นยางบางๆ เพื่อแยกฟัน (Rubber dam) ที่มีปัญหาออกจากฟันอื่น จากนั้นกรอฟันเปิดช่องเพื่อนำส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ เส้นประสาทฟันที่ติดเชื้อหรือตายแล้วออก
- ทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดคลองรากฟันด้วยการขัดผิวรากฟัน และล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจะใส่ยาฆ่าเชื้อทิ้งไว้ในรากฟัน 2-3 สัปดาห์เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อโรคและเนื้อฟันที่อักเสบออกหมดแล้ว
- ทำการอุดปิดคลองรากฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- บูรณะตัวฟันด้วยวัสดุอุด หรือทำครอบฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
การปฏิบัติตัวหลังจากรักษารากฟัน
- ในช่วงระยะเวลา 2-3 วันแรกของการรักษารากฟัน มักพบอาการเจ็บตื้อๆ และปวดฟันเล็กน้อยได้บ้าง หากมีอาการรุนแรง หรือเจ็บปวดนานกว่านี้ควรรีบแจ้งให้ทันตแพทย์ที่รักษาทราบ
- หลังการรักษาควรงดรับประทานอาหาร จนกว่าอาการชาที่ปากจะหมดไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้น หรือกระพุ้งแก้มโดยไม่ตั้งใจ
- ระมัดระวังในการบดเคี้ยวในฟันซี่ที่เพิ่งทำการรักษารากฟัน เพื่อลดโอกาสเกิดฟันแตกระหว่างที่ยังรักษาไม่เสร็จสิ้น
- สามารถรักษาความสะอาดด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันได้อย่างปกติ และควรทำความสะอาดสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ
- โดยปกติการรักษารากฟันจะทำประมาณ 2-3 ครั้ง ดังนั้นหากว่าทันตแพทย์นัดวันรักษา คนไข้ควรมาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดการติดเชื้อเกินกว่าจะรักษา จนอาจจะทำให้ต้องถอนฟันซี่นั้นไป