จัดฟัน
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
การจัดฟันคืออะไร
การจัดฟัน (Orthodontics) เป็นสาขาหนึ่งในทางทันตกรรม ที่ให้การวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาความผิดปกติ ของการเรียงฟัน และการสบฟัน รวมทั้งปัญหาความผิดปกติของขนาดและความสัมพันธ์ของขากรรไกรต่อใบหน้า
การจัดฟัน เป็นการรักษาเพื่อให้มีการสบฟันที่ดีขึ้น เพื่อการบดเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือกอันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือก ในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติ หลีกเลี่ยงการเกิดการสึกของฟันที่ผิดปกติจาการเรียงฟันหรือสบฟันที่ไม่เหมาะ สม นอกจากนี้ยังอาจช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟันเรียงกันสวยงาม
ฟันแบบไหนที่ควรจัดฟัน
1. การสบฟันที่ผิดปกติ
การสบฟันที่ดี คือการที่ฟันเรียงตัวกันอย่างถูกต้อง เหมาะสม ฟันล่างและฟันบนจะต้องสบเข้าคู่กันเรียงตัวกันชิดไม่มีช่องว่าง บิดหมุน หรือสบไขว้กัน ฟันหน้าบนสามารถยื่นครอบลงมากับฟันหน้าล่าง โดยสมมาตร การสบฟันผิดปกติจึงหมายถึงอาการผิดปกติที่ฟันบน หรือฟันล่าง ยื่นออกมาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น เช่น อาการฟันยื่น ฟันสบคร่อม ฟันล่างคร่อมฟันบน ฟันสบลึก เป็นต้น
การสบฟันที่ผิดปกตินั้น นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ภายนอกดูไม่สวยงาม ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่สะดวก รวมถึงการทำความสะอาดที่ยากกว่าฟันที่เรียงตัวดี การสบฟันที่ผิดปกติเป็นอาการที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง หากไม่รีบแก้ไข อาจต้องใช้เวลา และมีความยากในการรักษามากยิ่งขึ้น
2. ฟันซ้อนเก
ฟันซ้อนเก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ฟันเรียงตัวกันไม่เป็นระเบียบ หรืออาจมีจำนวนฟันเพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้เกิดความยากในการดูแลทำความสะอาด และสร้างปัญหาอื่นๆตามมา เช่น อาการเหงือกอักเสบ ฟันผุ นอกจากนี้ ฟันที่เรียงตัวไม่ดีอาจทำให้ไม่มั่นใจในการพูดคุยหรือการยิ้มอีกด้วย
3. ฟันห่าง
ฟันห่าง คือการที่ฟันเรียงตัวกันผิดปกติ มีช่องว่างระหว่างฟันขึ้น นอกจากจะทำให้ฟันดูไม่สวยงาม เรียงตัวกันไม่เป็นระเบียบแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดปัญหาในการรักษาความสะอาด เนื่องจากช่องว่างในบริเวณดังกล่าว จะถูกเติมเต็มไปด้วยเศษอาหารที่ยากต่อการขจัดออก มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบ หรือฟันผุได้อย่างมาก นอกจากนี้ ปัญหาฟันห่าง ยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพูด เพราะจะทำให้พูดได้ไม่ชัดเจน สร้างความรำคาญเพราะอาจเกิดน้ำลายกระเด็นระหว่างการพูดได้อีกด้วย
4. ปัญหาฟันขึ้นไม่ครบ หรือการสูญเสียฟันแท้จากการถอนฟัน
ปัญหาฟันแท้ขึ้นไม่ครบนั้น อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีฟันแท้ แต่อาจมีไม่ครบ โดยฟันที่หายไปอาจถูกฝังอยู่ในบริเวณขากรรไกร ในกรณีนี้ ทันตแพทย์จะใช้การจัดฟันในการดึงฟันแท้ขึ้นมา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือในกรณีของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือฟันผุที่บูรณะไม่ได้จนสูญเสียฟันแท้ไป ก็สามารถใช้วิธีการจัดฟันในการช่วยเหลือรักษาได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวิธีการรักษาควรอยู่ในดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
จัดฟันมีกี่แบบ
1. การจัดฟันแบบชนิดติดแน่น
เป็นวิธีจัดฟันที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลายและยาวนาน เครื่องมือทำด้วยวัสดุที่เป็นโลหะ แบ่งได้อีก 2 ชนิดตามการทำงานของเครื่องมือ
1.1 การจัดฟันแบบโลหะทั่วไป (Bracket Brace)
จัดฟันแบบโลหะ / จัดฟันเหล็ก เป็นการจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีราคาที่ย่อมเยาโดยปัจจุบันการจัดฟันโลหะได้มีการพัฒนาขนาดของวัสดุที่ใช้ให้มีขนาดเล็กลง คุณภาพสูงขึ้น และให้ความรู้สึกใส่สบายมากขึ้น สามารถเปลี่ยนสีสันยาง (O-ring) ที่สามารถเลือกสีที่ชอบเปลี่ยนได้ทุกเดือน จะมีการปรับเครื่องมือทุกๆ เดือน โดยการจัดฟันจะมีการปรับเครื่องมือจัดฟันทุกๆ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ฟันเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่เหมาะ ถือว่าเป็นการจัดฟันที่ราคาน้อยกว่าชนิดอื่นๆ
1.2 การจัดฟันแบบ Self-ligating
การจัดฟันแบบ Self-ligating เป็นนวัตกรรมจัดฟันสมัยใหม่ ที่มีจุดเด่นในเรื่องการทำงานของเครื่องมือจัดฟัน ที่ออกแบบมาให้คนไข้มีความรู้สึกสบาย เจ็บน้อยลง ตัวเครื่องมือสามารถล๊อกลวดได้ด้วยแผ่นโลหะ ให้แรงจัดฟันคงที่ ไม่ต้องมาเปลี่ยนยางดึงฟันทุก ช่วยเคลื่อนฟันได้เร็วขึ้น และด้วยความเรียบลื่นของวัสดุ จะช่วยให้คนไข้รู้สึกระคายเคืองน้อยลง
2. การจัดฟันแบบถอดได้
เป็นการจัดฟันที่ไม่ต้องติดเครื่องมือจัดฟันบนฟัน หรือมีเพียงเล็กน้อย เป็นเครื่องมือที่ทำมาเฉพาะบุคคล และต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยค่อยข้างสูง
2.1 เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ชนิดลวดและอะคลิลิก
เป็นเครื่องมือที่มีขนาดตามรูปร่างขากรรไกรผู้ป่วยแต่ละราย ใช้ในการแก้ไขการสบฟันในระยะฟันผสม หรือจัดฟันเบื้องต้น และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นในกรณีที่ฟันมีความซับซ้อนมาก โดยเครื่องมือมักจะมีอายุการใช้งานไม่นานนัก และอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องมือใหม่หลายชิ้น มีราคาย่อมเยา เหมาะกับการจัดฟันในเด็ก
2.2 การจัดฟันใส
การจัดฟันใสได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเรียงตัวของฟัน ให้มีความสวยงามและเหมาะสมได้โดยไม่ต้องติดเครื่องมือ การจัดฟันชนิดนี้สามารถถอดออกได้เมื่อต้องการ และมีความใสแทบมองไม่เห็น ระยะเวลารักษาที่ชัดเจน โดยทันตแพทย์จะทำการเปลี่ยนเครื่องมือ ให้ตามแผนการรักษา แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบอื่น ๆ
ขั้นตอนการจัดฟัน
ก่อนเริ่มการรักษาจัดฟัน
1. ตรวจวางแผนการรักษากับทันตแพทย์จัดฟัน
2. พิมพ์ปากเพื่อทำแบบโมเดลศึกษา เอกซเรย์จัดฟัน และเอกซเรย์ตรวจฟันผุ
3. เคลียร์ช่องปาก ขูดหินปูน อุดฟัน ผ่าฟันคุด หรืออื่นๆ ที่ต้องรักษาก่อนการใส่เครื่องมือจัดฟัน
ระหว่างรักษาด้วยการจัดฟัน
1. ติดเครื่องมือจัดฟัน
2. พบหมอจัดฟันทุก 4-6 สัปดาห์ กรณีจัดฟันแบบมีติดแน่น
3. เอกซเรย์เพื่อตรวจเช็คการรักษาระหว่างการจัดฟัน แล้วแต่ดุลยพินิจแพทย์
4. ขูดหินปูนและตรวจฟันผุทุก 6 เดือน
ภายหลังรักษาเมื่อจัดฟันเสร็จ
1. รีเทนเนอร์ตลอดหลังจากจัดฟันเสร็จสิ้น
2. เอกซเรย์หลังจัดฟันเพื่อเช็คผลการรักษา
3. ขูดหินปูนหลังถอดเครื่องมือ
4. ตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน