ทันตกรรมทั่วไป

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

ทันตกรรมทั่วไป

ทันตกรรมทั่วไป คือ การดูแลรักษาสุขภาพฟันและช่องปากพื้นฐาน การให้คำปรึกษา การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นต่าง ๆ รวมถึงการตรวจ รักษา ดูแลสุขภาพช่องปากประจำปี ครอบคลุมรักษาเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน เช่น การอุดฟัน ถอนฟัน และทันตกรรมป้องกัน เช่น ขูดหินปูน เคลือบหลุมรองฟัน เคลือบฟลูออไรด์ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย และให้คำปรึกษา
การตรวจวินิจฉัย และให้คำปรึกษา เป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการตรวจเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล ในขั้นตอนนี้อาจมีการถ่ายภาพรังสี พิมพ์ปาก ถ่ายภาพในช่องปาก แสกนช่องปากสามมิติ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น

การดูแลสุขภาพเหงือก

การดูแลสุขภาพเหงือก เป็นดูแลสุขภาพช่องปาก เหงือก และฟันโดยการกำจัดคราบแบคทีเรียและหินปูน โดยเครื่องมืออัลตราโซนิคกระเทาะหินปูนเพื่อให้หินปูนหลุดจากผิวฟัน รวมกับการขูดโดยใช้เครื่องมือแบบด้ามเก็บรายละเอียด จากนั้นทำการขัดผิวฟันให้เรียบด้วยผงขัดฟัน และอาจจะมีการเคลือบฟลูออไรด์เพื่อลดการเสียวฟันและป้องกันฟันผุเพิ่มเติม

การขูดหินปูน ขัดฟัน จะช่วยลดคราบบนฟัน ลดกลิ่นปาก และป้องกันการเกิดโรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม และป้องกันการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ อันเป็นสาเหตุให้ฟันโยก และสูญเสียฟัน

การอุดฟัน

การอุดฟัน คือ วิธีการบูรณะฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไป ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฟันผุ ฟันบิ่น ฟันแตกจากอุบัติเหตุ โดยการเติมวัสดุอุดฟันเข้าไปเพื่อทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไป

วัสดุอุดฟันจะมี 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. วัสดุอมัลกัม สีโลหะ เป็นวัสดุที่มีราคาถูก มีความแข็งแรง แต่ไม่สามารถยึดติดกับผิวฟันได้ จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันมากกว่าแบบอื่นเพื่อให้วัสดุมีความหนาที่เพียงพอ และมีสีที่ไม่สวยงาม
  2. วัสดุคอมโพสิต เป็นวัสดุที่มีสีเหมือนฟัน ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ให้การยึดเกาะที่ดี มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการบดเคี้ยวอาหาร มีความสวยงามกลมกลืนกับสีฟันธรรมชาติ
  3. วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ เป็นวัสดุที่สามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุได้ มีสีหลากหลายทั้งสีเงิน และสีเหมือนฟัน มีความแข็งแรงน้อยกว่าวัสดุแบบอื่น และมักใช้ในการอุดฟันตำแหน่งที่รับแรงบดเคี้ยวน้อยหรืออุดฟันในเด็ก

การถอนฟัน

การถอนฟัน (Tooth Extraction) คือ การนำซี่ฟันออกจากเบ้ากระดูกขากรรไกรภายใต้ยาชาเฉพาะที่ จะทำการรักษานี้เมื่อมีความจำเป็นในกรณีดังนี้

  • ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถรักษาโดยการรักษาคลองรากฟันได้
  • ฟันโยก จากโรคปริทันตอักเสบรุนแรง
  • ฟันแตก ฟันร้าว ถึงรากฟัน จนไม่สามารถบูรณะได้ด้วยวิธีอื่น ๆได้
  • ฟันเกิน ฟันคุด ฟันที่ขึ้นผิดตำแหน่ง
  • การถอนเพื่อจัดฟัน

Similar Posts