ฟันเทียม

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

ฟันเทียมคืออะไร

ฟันเทียม หรือฟันปลอมคือ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมาใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่ถอนไป หรือใช้เพื่อทดแทนเนื้อฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ป้องกันการเกิดปัญหาการล้มเอียงของฟัน ป้องกันการยื่นยาวของฟันคู่สบ ช่วยในการออกเสียง ชะลออัตราการสึกฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่และเพื่อความสวยงาม

ชนิดของฟันเทียม

  1. ฟันเทียมชนิดถอดได้
    ใช้ทดแทนฟันได้ตั้งแต่หนึ่งซี่ จนถึงทดแทนฟันทั้งปาก ผู้ป่วยสามารถใส่หรือถอดฟันปลอมชนิดนี้ได้ด้วยตนเอง โดยวัสดุที่ใช้ผลิตฟันเทียมจะทำมาจากอะคริลิก (พลาสติก) หรือโลหะ ซึ่งฟันเทียมชนิดถอดได้นี้จะอยู่ในช่องปากได้โดยอาศัยการยึดกับฟันด้วยตะขอ หรือความแนบสนิทของฐานฟันเทียมกับเนื้อเยื่อเหงือกในช่องปาก
  2. ฟันเทียมชนิดติดแน่น
    ใช้บูรณะฟันในกรณีที่มีการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วนเนื่องมาจากรอยผุขนาดใหญ่ วัสดุอุดหลุดบ่อยครั้ง ฟันแตกหัก หรือผู้ป่วยกลุ่มอาการฟันร้าวเคี้ยวแล้วมีอาการเสียว หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาคลองรากฟัน การบูรณะฟันที่มีปัญหาดังกล่าวได้แก่ การทำครอบฟัน และออนเลย์  นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีฟันธรรมชาติหาย 1-2 ซี่ยังสามารถบูรณะได้ด้วยสะพานฟันติดแน่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบดเคี้ยว การยึดติดชิ้นงานจะอาศัยกาวทางทันตกรรมเพื่อช่วยยึดชิ้นงานให้ติดแน่นกับฟันหลักยึดโดยผู้ป่วยไม่ต้องถอดออก วัสดุที่ใช้ทำครอบฟันหรือสะพานฟันนั้น ทำมาจากโลหะล้วน โลหะเคลือบเซรามิกสีเหมือนฟัน หรือวัสดุเซรามิกล้วน
  3. รากฟันเทียม
    เป็นวัสดุไทเทเทียมอัลลอยด์ หรือเซอร์โคเนียที่มีรูปร่างคล้ายกับรากฟันผ่าตัดฝังลงไปในกระดูกขากรรไกรแล้วบูรณะต่อส่วนครอบฟันขึ้นมา จะมีความแข็งแรง คงทน และใช้งานได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากกว่าฟันเทียมแบบอื่น นอกจากนี้รากฟันเทียมยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับฟันเทียมถอดได้เพื่อลดการเคลื่อนขยับฟันเทียมถอดได้ ลดการเจ็บ เพิ่มแรงเคี้ยวให้ดีขึ้น

ขั้นตอนการรักษา

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจวิเคราะห์ในช่องปาก แล้วทำการพิมพ์ฟัน และภาพถ่ายรังสี เพื่อนำมาออกแบบฟันเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  2. เตรียมช่องปากเพื่อให้พร้อมสำหรับการใส่ฟัน เช่นการอุดฟัน ถอนฟัน หรือขูดหินปูน เพื่อให้ช่องปากสะอาด ไม่มีการติดเชื้อ
  3. หลังจากทำฟันเทียมเสร็จ จะนัดผู้ป่วยมาลองชิ้นงานใส่ในช่องปาก และปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ในกรณีที่มีฟันหายไปหลายซี่ หรือมีความซับซ้อน ทำให้ต้องใช้ขั้นตอนในการรักษาเพิ่มมากขึ้น อาจมีขั้นตอนการพิมพ์ละเอียด และการลองฟันเพื่อประเมินความสวยงามและความเหมาะสมกับการทำงาน ก่อนจะนัดมารับฟันเทียมตัวจริง
  4. หลังจากใส่ฟันเทียมไปในครั้งแรกนั้น ผู้ป่วยอาจยังไม่คุ้นชิ้น หรือมีอาการผิดปกติ เจ็บสันเหงือกเกิดขึ้นได้บ้าง ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจซ้ำและปรับแต่งฟันเทียมเพิ่มเติม ผู้ป่วยควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อรับตรวจแก้ไข จนกว่าจะใช้งานฟันเทียมได้ดีขึ้น

วิธีการดูแลรักษาฟันเทียม

ฟันเทียมชนิดถอดได้
1. ผู้ป่วยควรถอดออกทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน
2. ใช้แปรงสีฟันขนนิ่มร่วมกับน้ำสบู่อ่อนหรือยาสีฟันชนิดที่ไม่มีผงขัด แปรงทำความสะอาดทั้งด้านนอกและด้านในของฟันเทียม
3. ควรถอดฟันเทียมก่อนนอน หลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จ หรือเมื่อไม่ได้ใช้ฟันปลอมในการบดเคี้ยวอาหาร พบปะผู้คน เพื่อป้องกันการเกิดเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบหรือติดเชื้อราใต้ฐานฟันปลอม
4. เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว ควรแช่น้ำในภาชนะที่มีฝาปิด
5. ฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ในช่องปากก็จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ป่วยมักจะทำความสะอาดได้ยากขึ้น โดยเฉพาะฟันด้านที่ติดกับสันเหงือกไร้ฟัน อาจใช้แปรงขนาดเล็ก หรือผ้าก๊อซเช็ดทำความสะอาดร่วมด้วย

ฟันเทียมแบบติดแน่น
การดูแลและทำความสะอาดจะเหมือนฟันธรรมชาติคือ แปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยอื่น เช่น ไหมขัดฟัน ทั้งนี้ ฟันที่ทำครอบฟันหรือสะพานฟันติดแน่นแล้วนั้น ยังสามารถเกิดรอยผุต่อได้ถ้าหากดูแลไม่ถูกวิธี

Similar Posts